พลังจากปลายปากกา คนธรรมดา (ก็) สร้างความเปลี่ยนแปลงได้


ถ้อยคำหรือข้อความจากคุณสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนคนหนึ่งได้ นี่คือจุดเริ่มต้น ของ “Write For Rights” แคมเปญเพื่อการ “เขียน เปลี่ยน โลก” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันทั่วโลกยังมีคนที่กำลังถูกคุกคามเสรีภาพ การลิดรอนเสรีภาพ ไม่ได้หมายถึงแค่การถูกคุมขังเสมอไป แต่อาจหมายถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนออกมาพูดพาดพิงถึงความ อยุติธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการที่ชุมชนถูกบังคับให้ออกจากถิ่นฐานของบรรพบุรุษ การเลือกปฏิบัติในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ ศาสนา และเพศวิถี และเพราะว่าโลกใบนี้มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นมากมาย ที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แคมเปญ “เขียน เปลี่ยน โลก” สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

“Write for Rights” คือแคมเปญจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม

ในเดือนธันวาคมของทุกปี ผู้คนหลายแสนคนทั่วโลกร่วมกันเขียนจดหมายมากมายเพื่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จดหมายหลายฉบับถูกส่งถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง ขณะที่จดหมายอีกจำนวนมากก็ถูกส่งไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นๆจดหมายเพียงฉบับเดียวที่ถูกส่งถึงผู้มีอำนาจอาจไม่ได้รับความสนใจ แต่หากมีจดหมายนับหมื่นนับแสนฉบับที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนนั้นก็ยากที่จะมองข้ามได้ การรณรงค์กว่า 60 ปีที่ผ่านมาของแอมเนสตี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเขียนเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ

ความสำเร็จที่ผ่านมา...เสียงของคุณช่วยพวกเขาได้อย่างไร?

ลำพังเสียงของคุณคนเดียวอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก แต่ Write for Rights พิสูจน์แล้วว่าเมื่อเสียงของคนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกัน รัฐบาล ประเทศต่างๆ จะไม่สามารถเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป ส่วนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเองก็จะมีความหวังในการต่อสู้มาก ขึ้นจนได้รับความยุติธรรมในที่สุด ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ ประเทศไทยมีส่วนในการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นัซซีมา อัล-ซาดา

นักรณรงค์เพื่อเสรีภาพของผู้หญิง ถูกปล่อยตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 64 ถูกจับกุมในปี 61 เพียงเพราะเธอทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ถูกคุมขัง เจ้าหน้าที่ทุบตีเธอและห้ามไม่ให้ใครเข้าเยี่ยมแม้แต่ทนาย จดหมาย 777,611 ฉบับ ทวีตข้อความมูซา อัล-ซาดา ลูกชายของนัซซีมา รู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแม่ของเขาได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างมาก จนผลักดันให้คดีของเธอนำไปสู่การตัดสิน หลังจากหลายปีที่คดีของเธอถูกชะงักและช่วยให้เธอได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้นัซซิมายังคงถูกห้ามไม่ให้เดินทาง ซึ่งหมายความว่าเธอไม่สามารถออกจากประเทศซาอุดิอาระเบียได้เป็นเวลาห้าปี

เยซีเนีย อาร์เมนตา

เธอถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี หลังจากถูกทรมานเพื่อบังคับให้สารภาพว่าเธอฆ่าสามีของเธอ ในปี 2558 มีผู้คนส่งจดหมายมากกว่า 300,000 ฉบับ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเม็กซิโกยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวเธอทันที การกดดันนี้ได้ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนในประเทศและวิธีการรายงานข่าวของสื่อ และกดดันรัฐบาล ในที่สุดเธอลอดพ้นจากการต้องคดีและได้รับการปล่อยตัวในเดือนมีนาคม 2559

รุ้ง ปนัสยา จิรวัฒนกุล
รุ้ง ปนัสยาคือคนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 เรื่องราวในแคมเปญเขียน เปลี่ยน โลก 2564 โดยมีผู้ร่วมแสดงพลังในการเขียนให้เธอรวมกันอย่างน้อย 359,491 คนและสำหรับในประเทศไทยมีมากถึง 10,313 คนซึ่งเกิดจากพลังของคนไทยในทั่วทุกภูมิภาคที่ร่วมกัน เธอได้เล่าว่า "โครงการ Write for Rights มันเปลี่ยนได้จริง ๆ นะ ข้อความแต่ละข้อความที่เขียนกันมา มันไม่ได้อะไรมากมายเลย เป็นการเขียนให้กำลังใจ การบอกว่ายังมีคนที่อยู่เคียงข้างเรา ถึงแม้จะไม่อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่รู้จักกัน เป็นคนแปลกหน้าทั่วโลกที่ส่งจดหมาย เขียนข้อความมาและบอกเราว่า เราเชื่อมั่นในตัวคุณ เราเชื่อว่าคุณต่อสู้ได้และเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เราเชื่อว่าอันนั้นคือประโยคที่สร้างความเชื่อมั่นและกำลังใจให้เราเป็นอย่างมาก จดหมายทีไ่ด้มาเราอ่านไม่หมดจริง ๆ เราไม่รู้ว่าเรียกว่าความรักได้ไหม แต่สำหรับเราสิ่งที่เราได้รับกลับมา มันเหมือนกับว่าเราได้ความรักเข้ามาเรื่อย ๆ จากจดหมายแต่ละฉบับ" เธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 หลังจากโดนดำเนินคดีตามคามผิดมาตรา 112

ฆาลิด ดราเรนี

อยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 11 เดือนและเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศแอลจีเรีย มีนาคม 63 ฆาลิดถูกจับกุมขณะรายงานข่าวเรื่องการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยสงบ แต่เขากลับถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้มีการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธและสร้างความเสียหายต่อบูรณภาพของดินแดน และถูกตัดสินจำคุกสามปี เพียงเพราะเขาทำหน้าที่ในฐานะนักข่าว ความสนใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการรณรงค์และการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมทั่วโลก ทำให้ฆาลิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 19 กุมภา 64  ฆาลิดยังคงถูกตั้งข้อหา เราจะไม่หยุดจนกว่าทางการแอลจีเรียจะยุติข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อฆาลิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้