เพราะนักศึกษาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสถาบันหลักๆที่มีอำนาจ ในสังคมไทยอย่างยาวนาน
นักศึกษาทะลุทะลวงไปที่ความคิด เพดานทางความคิดที่เป็นประเด็นที่คนไม่กล้าพูดถึงมาก่อน
ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน รัฐก็ยิ่งกลัว 
 
เมื่อวรรณกรรมเป็นหนึ่งในการเมืองวัฒนธรรม
อาจารย์ชอบวรรณกรรมเรื่องไหนที่เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์

            เราอ่านหลายๆ เล่มมาประกอบกันเมื่อโตขึ้นหนังสือที่เราอ่านก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จริงๆ เป็นคนชอบอ่านนิยายประวัติศาสตร์ เพราะรู้สึกว่ามันสนุกและให้บทเรียนอะไรที่น่าสนใจ ตอนสมัยเรียนเป็นนักศึกษา เป็นพวกวรรณกรรม อย่างเรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล นิยายของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ จอห์น สไตน์เบ็ค ตอนเป็นนักศึกษา เราเป็นนักกิจกรรม อ่านนิยายเพื่อชีวิตของไทยค่อนข้างเยอะเช่น  ปีศาจ, ความรักของวัลยา
            พอโตขึ้นมาอ่านภาษาอังกฤษได้มากขึ้น การอ่านมันก็เปิดกว้างออกไป นิยายประวัติศาสตร์ที่เขาเอาเค้าโครงจากเรื่องจริงมาแต่งเป็นนิยายเล่มหนึ่งที่เอาไปสร้างเป็นซีรีย์ Underground Railroad พูดถึงระบบทาสในอเมริกา กลุ่มคนที่พยายาช่วยเหลือให้ทาสหลบหนี เป็นเครือข่ายใต้ดินที่ช่วยทาสหลบหนีจากนายทาสเพื่อช่วยให้ทาสเป็นอิสระได้ นิยายเอาเรื่องนี้มาเขามาแต่งอิงกับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ หลายคนมีตัวตนจริง อ่านเรื่องพวกนี้ให้แรงบันดาลใจ สนุกและได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์

เมื่อตัวอักษรเป็นเสียงหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง
อยากให้อาจารย์ฝากถ้อยความถึงรุ้ง และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่อยู่ข้างนอกและในเรือนจำ

        อยากจะให้กำลังใจ และอยากฝากไปถึงสังคมไทยโดยรวม อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ คนหนุ่มสาว เขาออกมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมในสังคม เขาไม่ใช่อาชญากร ในทางสากล เราเรียกเขาว่าเป็นนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด (Prisoners Defenders) ความผิดเดียวของเขาคือเห็นต่างจากรัฐ และรัฐขาดความเป็นประชาธิปไตย ใช้กฏหมายมาเล่นงานคน มาเป็นเครื่องมือในการปราบปราม เมื่อวันหนึ่งที่สังคมเป็นประชาธิปไตยแล้ว อาชญากรรมเหล่านี้ถูกพิจารณาใหม่ และในที่สุดก็ต้องปล่อยเขาไปอย่างที่เกิดขึ้นหลายประเทศ ผู้นำในประเทศหลายคนครั้งหนึ่งเคยถูกจับด้วยความไม่เป็นธรรมมาก่อน
          จึงอยากจะฝากถึงสังคมว่า อย่าลืมพวกเขา เขาออกมาสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม เขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง พวกเขาอยู่ในวัยหนุ่มสาว เขาควรที่จะอยู่ในมหาวิทยาลัย โรงเรียน อยู่กับพ่อแม่ กับเพื่อน เดินตามความฝันของเขา การที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองมันควรเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรเป็นการกระทำที่เขาสูญเสียอิสรภาพแบบนี้ โดยเฉพาะที่ยังไม่ได้ไต่สวนพิพากษาเลยด้วยซ้ำ

         สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำทุกคน ผมอยากให้กำลังใจ อยากให้ทุกคนมีความอดทนเชื่อว่าคนจำนวนมากเข้าใจปัญหาที่พวกเขาพูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งพร้อมที่จะช่วยเหลือ ผลักดันให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งที่สุดก็หวังว่าพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวออกมา ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม คือเราเห็นผู้พิพากษาในกระบวนยุติธรรมที่มีมโนธรรมสำนึกอยู่ เพียงแต่เขากำลังต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจที่มันใหญ่โตและวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม
 

“เพราะฉะนั้นสิ่งเรียกร้องของทุกคนในแคมเปญของการเขียนนี้จึงสำคัญ อย่าหยุดเขียน อย่าหยุดพูด
เพราะเสียงของทุกคนมันมีความหมาย ในหลายประเทศก็มีคนที่ได้รับการปล่อยออกมา เพราะการรณรงค์แบบนี้”


         มนุษย์นั้น.. ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษามันมีมโนธรรมสำนึกอยู่และถูกปลุกได้ ถ้ามันมีเสียงที่ไปปลุกเขามากพอ เราอย่าทำให้เขาได้ยินแต่เสียงของผู้มีอำนาจที่มาปลุกเขาอย่างเดียว ถ้าสังคมเงียบเสียงเขาก็ฟังแต่นายของเขา แต่ถ้าสังคมเสียงดังมาก ช่วยกันส่งเสียง เขาก็ต้องฟัง มันจะต้องดังอย่างต่อเนื่อง อย่าดังเป็นพักๆ

ถึงเยาวชนและเยาวรุ่นที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองไทย

      สังคมไหนที่เด็กต้องออกมาประท้วงเรียกร้องชุมนุมเยอะๆ แสดงว่าสังคมนั้นมีความผิดปกติมากแล้ว เพราะว่าด้วยวัยของเขา สังคมปกติที่ของเขาคือโรงเรียนและมหาวิทยาลัย มันเกือบจะใช้เป็นดัชนีชี้วัดได้เลยว่าสังคมไหนที่มีถึงขั้นเด็กมาชุมนุมเรียกร้อง แสดงว่าสังคมนั้นมีปัญหาอย่างรุนแรง เหมือนในยุค 1960 ขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ มีเด็กถูกจับกุมเยอะเลยนะ อายุ 14-16 ที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ ทั้งเด็กทั้งผิวขาวและผิวดำออกมาเรียกร้องร่วมกันเพราะเขาเห็นความ      อยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนดำ  เหมือนกับบ้านเราเลยทำไมผู้ใหญ่หรือคนทั่วไปในสังคมมองไม่เห็น เด็กมองเห็นเพราะเขามองด้วยสายตาบริสุทธิ์กว่า เพราะฉะนั้นเขากำลังทำหน้าที่เป็นมโนธรรมทางสำนึกให้สังคมในแง่นี้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ภาษาที่เขาใช้ หรือท่าทีอะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่บอกว่าก้าวร้าวรุนแรง (Aggressive) ถ้าเราไม่ติดตรงนั้น แล้วลองหันกลับไปมองว่าเขาเป็นกระจกสะท้อนอะไรบางอย่างหรือไม่ มองว่าว่าสังคมนี้มันมีปัญหาอะไรบ้าง โดยเฉพาะปัญหาวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม โดยเฉพาะในระบบการศึกษา ในโรงเรียนของไทยที่มันกดขี่เด็กเอาไว้ เขาไม่ควรต้องออกมาเรียกร้องด้วยซ้ำถ้าผู้ใหญ่ทำหน้าที่ของตนเอง และเมื่อเขาออกมาเรียกร้องแล้ว เขาไม่ควรถูกละเมิดสิทธิอย่างที่เราเห็น ถูกดำเนินคดีแบบนั้น 

ในฐานะผู้ใหญ่เราทำอะไรได้อีกบ้างไหม?

       เราทำหน้าที่ได้หลายอย่าง หนึ่งเลยหน้าที่ในแง่การสนับสนุนทางด้านจิตใจ (Moral Support) ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจเขา ให้เข้ารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ไม่ได้  โดดเดี่ยว มันสำคัญนะการเขียนจดหมายถึงเขามันก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้นี่แหละ ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าต่อสู้เพียงลำพัง ไม่มีใครสนับสนุน หรือเห็นคุณค่า ความรู้สึกก็จะเป็นความรู้ที่เลวร้าย การแสดงออกตรงนี้การให้กำลังใจมันสำคัญ หรือการแสดงออกการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน Solidarity มันจะทำให้เขามีกำลังใจมีความเข้มแข็ง รักษาความฝันและความหวังของเขาต่อไปได้ ซึ่งมันดูเหมือนว่าจะหายไปในโลกปัจุบันแล้ว ที่คนไม่ค่อยเขียนจดหมายถึงกัน แต่เราลองคิดดูว่าวันหนึ่งเราได้รับเมลหลายร้อยฉบับ  แต่เราก็ไม่ตื่นเต้นถ้ามีจดหมาย 1 ซองส่งมาถึงแล้ว จ่าหน้าซองโดยเพื่อนที่เราไม่เจอกันมานานแล้วและเขียนด้วยลายมือแค่ไม่กี่บรรทัด อันนั้นมันมีพลังมากกว่าอีเมลพันๆ ฉบับซะอีก มนุษย์นั้นโหยหาตรงนี้ นั่นคือการเชื่อมต่อของมนุษย์ (Human Connection) การติดต่อสื่อสาร ที่มันมีการสื่อสารถึงตัวตน (Personal) ให้กำลังเขาเป็นอย่างดี

       นอกจากนี้เราก็ต้องช่วยสนับสนุนในการพูดถึงปัญหาต่างๆ ในช่องทางต่างๆ ต่อไป เพื่อให้ประเด็นที่มันถูกจุดมาแล้วมันไม่สูญเปล่า การต่อสู้ครั้งนี้มันมีการบาดเจ็บ มีคนโดนดำเนินคดี สูญเสียอิสรภาพ มันก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ถ้าท้ายสุดแล้วถ้าทุกคนเงียบเสียงไป แสดงว่าการปราบปรามของรัฐนั้นสำเร็จ ทำให้ทุกคนกลับไปอยู่กับความหวาดกลัวอีกครั้ง และก็ไม่มีใครกล้าพูดถึงประเด็นต่างๆไม่มีใครกล้าเคลื่อนไหวอีกต่อไป ยิ่งคนที่เป็นผู้ใหญ่ คนที่ต้นทุนทางสังคมสูง  ก็เป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องพูดถึงประเด็นปัญหาทางสังคมต่อไป ถ้าคุณยังคิดว่ามันมีความไม่เป็นธรรมในสังคมอยู่ อย่าหยุดพูด อย่าหยุดทำกิจกรรม อย่าหยุดลงมือทำ (take action) ซึ่งมันมีรูปแบบกิจกรรมมากมายทั้งการจัดพูดคุย การเสวนา ประชุมกลุ่มย่อย การรณรงค์ ช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นที่มันซีเรียสมันไม่ถูกเอาซุกไว้ใต้พรมอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อเราสู้กันมาเพื่อเอาปัญหามาอยู่บนดิน เพื่อถูกพูดถึงวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพื่อแก้ปัญหาได้ เราก็ต้องช่วยกันทำให้มันมีพื้นที่ให้ได้ส่งเสียง (Keep Momentum) ในการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมมันก็คือการส่งพลัง (Empowering) ประชาชนหรือพลเมือง มันคือการ Empower ซึ่งกันและกัน ถ้าเราอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวเมื่อไหร่ เราจะรู้สึกไร้พลัง (Powerless) หดหู่ ท้อถอย เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่มีพลังอำนาจอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราก็ต้อง Keep Action ให้มันอยู่ได้

   ดังที่อาจารย์ประจักษ์ได้ให้ทัศนะไว้ว่าเรามิอาจดูเบาพลังของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ความเคลื่อนไหวที่ต้องการเรียกร้องไปมากกว่าการเมืองเฉพาะหน้าแต่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และนั่นจึงเป็นเหตุให้คนหลายคนต้องถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพของการแสดงออก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยยังมีนักกิจกรรมทั่วโลกที่ต้องเจอกับการถูกละเมิดสิทธิในแบบเดียวกันเพราะฉะนั้นเสียงของทุกคนจึงมีความหมายและเป็นพลังที่จะช่วยให้นักปกป้องสิทธิทั่วโลกได้พ้นจากวงจรของความอยุติธรรมเหล่านี้
                       

ร่วมส่งจดหมายถึงพวกเขา เพื่อจุดเทียนท่ามกลางความอยุติธรรมอันมืดมิดให้กับ
รุ้ง ปนัสยา ได้ที่ https://www.aith.or.th/form/1/take-action 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้